อาการไบโพลาร์ การรักษา โรคไบโพลาร์ โรคอารมณ์สองขั้ว หรือที่เรามักเรียกกันทั่วไปว่า “ไบโพลาร์” (Bipolar Disorder) สาเหตุสำคัญเกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง หรืออาจเกิดจากพันธุกรรม หรือสาเหตุอื่นๆ เช่น ความเครียด สารเสพติด การเลี้ยงดู เป็นต้น โดยผู้ป่วยจะมีอาการซึมเศร้า สลับอารมณ์ดีผิดปกติ ราวกับเป็นคนละคน ต่อเนื่องกันยาวนานกว่า 1 สัปดาห์
เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย อาการสงสัยเป็น “ไบโพลาร์”
โรคไบโพลาร์ จะมีอาการพื้นฐานอยู่ทั้งหมด 4 อาการด้วยกัน ซึ่งอาการดังกล่าวส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนทั้งทางด้านอารมณ์และร่างกาย โดยทำให้เกิดการเปลี่ยนทางอารมณ์ เรี่ยวแรง และความคล่องตัว รวมไปถึงส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน รวมถึงการทำงานอีกด้วย
ผู้ป่วยโรคไบโพลาร์จะเกิดการแบ่งอารมณ์เป็น 2 ขั้วอย่างชัดเจน ได้แก่ ขั้วอารมณ์คึกคัก (Mania) หรืออารมณ์ดีผิดปกติ และขั้วซึมเศร้า (Depress) โดยระยะเวลาในการแสดงอาการของแต่ละขั้วอาจยาวนานหลายวัน หรืออาจยาวนานหลายสัปดาห์
อารมณ์ของผู้ป่วยไบโพลาร์จะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นช่วงๆ บางคนอาจมีอารมณ์คึกคักก่อน แล้วจึงมีอาการแบบซึมเศร้าขึ้นมา หรืออาจะสลับกับอาการปกติต่อเนื่องกันไป
อาการที่บ่งบอกว่าถึงเวลาต้องไปพบแพทย์
หากพบว่าคนใกล้ชิดมีอาการเข้าข่ายช่วงแมเนีย หรือซึมเศร้า เพียงแค่อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยที่อาการเหล่านั้นส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ก็สามารถพบจิตแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยโรคและการรักษาที่ถูกต้องต่อไป
การรักษาโรคไบโพลาร์
เข้าพบจิตแพทย์เพื่อรักษาโรคไบโพลาร์
ไบโพลาร์เป็นโรคที่เกิดจากสารสื่อประสาทในสมองผิดปกติ อยู่ในระดับที่ไม่สมดุล ดังนั้นการรักษาจึงจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาจากจิตแพทย์โดยใช้ยาเป็นหลัก จิตแพทย์จะให้ยาเพื่อปรับสารสื่อประสาทและควบคุมอารมณ์ กรณีผู้ป่วยมีพฤติกรรมก้าวร้าว รบกวนบุคคลอื่น หรือมีอาการทางจิตร่วมด้วย มักจะรับไว้รักษาแบบผู้ป่วยใน
ยารักษาโรคไบโพลาร์
ยาที่ใช้รักษาโรคไบโพลาร์ มีหลายกลุ่ม ได้แก่
ยาที่ช่วยให้อารมณ์คงที่ แพทย์จะใช้สำหรับรักษาผู้ป่วยไบโพลาร์ทั้งระยะเฉียบพลันและระยะยาว โดยควบคุมให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมกับผู้ป่วย
ยาต้านอาการทางจิต ยากลุ่มนี้ช่วยให้อารมณ์คงที่เช่นเดียวกับยากลุ่มแรก และยังสามารถใช้ในกรณีที่มีอาการทางจิตร่วมด้วย
ยาต้านเศร้า ใช้รักษาผู้ป่วยไบโพลาร์ที่อยู่ในช่วงซึมเศร้า
ยาคลายกังวล ยากลุ่มนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยคลายความวิตก ความคิดฟุ้งซ่าน หากผู้ป่วยมีอาการนอนไม่หลับ ยากลุ่มนี้จะช่วยแก้ปัญหาให้ผู้ป่วยหลับง่ายขึ้น
นอกจากการรักษาด้วยยาและการทำจิตบำบัดควบคู่กันไป จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถปรับตัวและจัดการกับความเครียดได้ดีขึ้น
สิ่งสำคัญที่สุดคือการกินยาสม่ำเสมอและติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง กรณีการรักษาด้วยยาไม่ได้ผล อาจทำการรักษาด้วยไฟฟ้า (Electroconvulsant Therapy)